Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

มลพิษทางอากาศทำลายปอด เสี่ยงมะเร็งปอด!

24 ม.ค. 2567



  หลายท่านคงรู้อยู่แล้วว่าควันจากบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ไม่เพียงแค่ควันจากบุหรี่เท่านั้นที่ทำลายปอด ยังมีมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 และควันจากธูปก็มีผลทำร้ายทำลายปอดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอดที่เกิดจากฝุ่นควัน ได้แก่

1. บุหรี่
  ไม่สูบบุหรี่ แต่แค่สูดควันก็เสี่ยง!  กว่า 90% ของผู้ป่วยโรคปอดโดยเฉพาะมะเร็งปอดในปัจจุบันล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ หลายคนที่คิดว่าตนเองไม่ได้สูบบุหรี่แล้วจะปลอดภัย ซึ่งนั่นไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เพราะกว่าร้อยละ 30 ของคนที่เป็นมะเร็งปอดคือคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนใกล้ชิด และผู้ที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะทั่วไป
 แต่ถ้ายิ่งสูบมากยิ่งเสี่ยงมาก ยิ่งสูบนานก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 Pack-year ในช่วงอายุ 55 – 75 ปี จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (high risk) ที่จะเกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่จากทางฝั่งยุโรปที่ระบุว่า แม้คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 Pack-year ก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน ดังนั้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจึงควรต้องพบแพทย์และตรวจเช็กปอดอย่างสม่ำเสมอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ ที่สำคัญงดสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งปอดได้ดีที่สุด
2. ฝุ่น PM 2.5

  คือฝุ่นละอองควัน (Particulate Matter หรือ PM 2.5) เป็นสสารขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หลายคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่าเป็นมะเร็งปอด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมลพิษทางอากาศ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งที่เสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 เพราะประชากรได้รับมลพิษ PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชื่อว่า EGFR Mutation ที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดได้ เมื่อฝุ่นควันขนาดเล็กเข้าไปอยู่ในปอด ร่างกายจะพยายามกำจัด แต่หากกำจัดไม่ได้จะเข้าไปฝังตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ในระยะยาวพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง นำไปสู่โรคมะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ดังนั้นหากวันไหนที่ค่า PM 2.5 สูงมากไม่ควรออกนอกบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านควรใส่หน้ากากที่ช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5

3. ธูป

  การใช้ธูปที่เพิ่มขึ้นและได้รับควันธูปเป็นระยะเวลายาวนานส่งผลกระทบกับเนื้อเยื่อปอดและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ ซึ่งไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ เพราะธูปมีสารก่อมะเร็งอย่างเบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน อีกทั้งทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 และ 10 ไมครอน ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด เช่น มีประวัติมะเร็งปอดในครอบครัว โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด แนะนำให้เลี่ยงการจุดธูปและสถานที่ที่มีควันธูป

อาการทางปอดที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ ดังต่อไปนี้บ้างหรือไม่

  • ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ไอรักษาไม่หาย
  • หอบเหนื่อย หายใจติดขัด หายใจไม่ทัน
  • แน่นเจ็บชายโครง เจ็บหน้าอก หายใจแล้วเจ็บโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้
  • มีเสียงดังเวลาหายใจ

  หากมีอาการแปลกๆ แบบนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจดูว่าส่วนไหนของร่างกายที่กำลังแจ้งเตือนความผิดปกติอยู่ เมื่อหมอปอดได้ตรวจร่างกายคนไข้ก็จะรู้ได้ว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุจากการป่วยด้วยโรคเป็นอะไรกันแน่

อย่าปล่อยให้ปอดพัง ค่อยตรวจสุขภาพปอด

  ตามปกติทุกคนควรตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ จะได้รักษาได้ทันท่วงที เพราะทุกนาทีที่เราหายใจนั้นมีโอกาสนำสิ่งแปลกปลอมและมลพิษที่เป็นอันตรายเข้าสู่รางกายได้ทั้งสิ้น ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีให้บริการตรวจสุขภาพปอดที่ครอบคลุม ทั้งการตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจปริมาตรปอด ตรวจความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขณะหายใจ การตรวจปอดและหัวใจด้วยการออกกำลังกาย และการส่องกล้องหลอดลมโดยแพทย์เฉพาะทาง ที่พร้อมให้ความรู้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้ทุกท่านสามารถดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการตรวจสุขภาพปอด การตรวจหามะเร็งปอด สามารถตรวจหาได้ด้วยวิธี ตรวจเอกเซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low – Dose Computed Tomography Scan: LDCT) สามารถตรวจหาก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจน ให้ภาพสามมิติที่รายละเอียดดีกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป สามารถตรวจได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือเจาะเลือด ใช้เวลาตรวจประมาณ 5 – 15 นาที ช่วยให้พบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสรักษาหายได้มากขึ้น เพิ่มอัตราการรอดชีวิต หากอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำทุกปี

การรักษามะเร็งปอด

  มะเร็งปอดระยะแรกๆ มักไม่มีอาการมักแสดงอาการและตรวจเจอเมื่อลุกลามไปในระยะท้ายๆ แล้ว การรักษามะเร็งปอดจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรคเป็นสำคัญ ดังนี้

 ระยะที่ 1 สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเป็นหลัก ตามขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง โดยใช้การผ่าตัดส่องกล้อง Video – Assisted Thoracic Surgery (VATS) เพื่อผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบหรือผ่าตัดน้อยกว่าทั้งกลีบ
  ระยะที่ 2 รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลักเหมือนในระยะที่ 1 แล้วตามด้วยการรักษาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ การใช้ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง
 ระยะที่ การรักษาจะเป็นการผสมผสานระหว่างการทำเคมีบำบัด การใช้ยาพุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับการผ่าตัดและฉายแสง โดยจะใช้ทีมแพทย์ร่วมรักษา (MDT, multidisciplinary team) ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีแนวทางการรักษาแตกต่างกันแล้วแต่รอยโรค ในบางกรณีการผ่าตัดจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น มีการตัดต่อเส้นเลือดหรือหลอดลม เป็นต้น

  ระยะที่ 4 เน้นการรักษาด้วยยา ทั้งเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อประคับประคองอาการ อาจทำการผ่าตัดหรือฉายแสงในผู้ป่วยบางรายเพื่อบรรเทาอาการ

การป้องกันปอด ให้ห่างไกลจากมลพิษทางอากาศ

  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะ ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือเมื่อทำงานในที่ที่มีฝุ่นเยอะๆ เพื่อป้องกันฝุ่นควันและมลภาวะ
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับฝุ่นควัน รวมทั้งไม่อยู่ใกล้ควันบุหรี่ และผู้ที่กำลังสูบบุหรี่
  • ทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังเผชิญมลพิษ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำกิจกรรมอย่างอื่น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
  • หากมีอาการหวัด ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก หอบเหนื่อย ภูมิแพ้… ควรรีบตรวจรักษา หรือปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงจนเกิดโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ตามมา
  • การหลีกเลี่ยงฝุ่นควันทุกประเภทที่เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอด จะช่วยให้สุขภาพปอดแข็งแรง ที่สำคัญควรตรวจเช็กสุขภาพปอดตามคำแนะนำของแพทย์และหมั่นสังเกตตัวเองหากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที


สนับสนุนข้อมูลโดย    : นพ.ผดุง หนังสือ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ
ศูนย์การแพทย์       : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง ชั้น 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.